เว็บไซต์ส่วนตัว
หน้าแรก
ประวัติส่วนตัว
ความภาคภูมิใจ
สมุดเยี่ยม
::.พืช GMOs.
GMOs คืออะไร?
GMOs เป็นตัวย่อของคำว่า genetically modified organisms ตัว s ข้างท้ายแสดงว่าเป็นพหูพจน์ หมายความว่ามีหลายชนิด แปลความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า "สิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลงหรือตบแต่งสารพันธุกรรม" สารพันธุกรรม (DNA) คือสารเคมีที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยพันธุกรรมหรือ "ยีน (gene)" และสิ่งมีชีวิตที่ว่านี้อาจเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ก็ได้ ขณะนี้ในโลกมีผลิตภัณฑ์ GMOs ที่เป็นจุลินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์ที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและยา สัตว์บางชนิด เช่น ปลาแซลมอน แต่ GMOs ส่วนใหญ่ที่ได้รับการกล่าวถึงในปัจจุบันเกิดจากการดัดแปลงสารพันธุกรรมในพืช
สาเหตุที่มีความนิยมทำ GMOs ในพืชก็เพราะว่าเทียบกับสัตว์แล้วทำได้ง่ายกว่า และสามารถศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จากหลายชั่วอายุ (generation) ของพืช โดยใช้เวลาน้อยกว่าการศึกษาในสัตว์ ซึ่งแต่ละชั่วอายุของสัตว์มีระยะเวลายาวนาน
คำภาษาอังกฤษคำว่า modify หมายถึงการปรับแต่งหรือการดัดแปลง และ modified หมายความว่า ได้รับการปรับแต่งหรือดัดแปลงไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในกรณีของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่นั้น คำนี้หมายถึงการดัดแปลงหรือตัดแต่งที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ จากการใช้วิธีการทางพันธุวิศวกรรมเท่านั้น (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) วิธีการอื่น เช่น การปรับปรุงพันธุ์ด้วยการผสมพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์ (breeding) แม้จะเป็นการดัดแปลงยีนโดยฝีมือของมนุษย์ แต่ก็ไม่ถือว่าสิ่งที่ได้นั้นเป็น GMOs เนื่องจากมนุษย์มิได้เปลี่ยนแปลงที่ตัวยีนโดยตรง เป็นเพียงผู้ช่วยให้ยีนของพืชแต่ละต้นได้มีโอกาสมาพบกันมากขึ้น จากนั้นปล่อยให้การผสมผสานและการเปลี่ยนแปลงของยีน อยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติ
วิธีการทำอย่างไร?
การตัดต่อยีนนั้น ทำโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "พันธุวิศวกรรม (genetic engineering)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) กล่าวได้ว่าวิธีการนี้เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์โดยเจาะจงไปยังยีนที่ต้องการโดยตรง แทนที่วิธีการผสมพันธุ์แล้วคัดเลือกลูกผสมที่มีลักษณะตามความต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลานาน การเจาะจงไปยังยีนโดยตรงที่ว่านี้ เริ่มโดยการค้นหายีนตัวใหม่ หรือใช้ยีนที่ทราบอยู่แล้วว่ามีคุณลักษณะ (traits) ตามอย่างที่เราต้องการ ยีนตัวนี้อาจมาจากพืช สัตว์ หรือ จุลินทรีย์ก็ได้ เมื่อได้ยีนมาแล้วก็นำยีนดังกล่าวใส่เข้าไปให้อยู่ในโครโมโซม (ที่รวมของยีน) ภายในเซลล์ของพืช
วิธีการถ่ายทอดยีนให้เข้าไปอยู่ในโครโมโซมภายในเซลล์ใหม่นั้นทำได้หลายทาง วิธีการหลัก ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือการใช้จุลินทรีย์ที่เรียกว่า agrobacterium เป็นพาหะช่วยพายีนเข้าไป (คล้ายกับการใช้รถลำเลียงสัมภาระเข้าไปไว้ยังที่ที่ต้องการ) อีกวิธีหนึ่งคือการใช้ปืนยีน (gene gun) ยิงยีนที่เกาะอยู่บนผิวของอนุภาคของทอง ให้เข้าไปในโครโมโซม เซลล์พืช เมื่อยีนนั้นเข้าไปในเซลล์พืชแล้ว ไม่ว่าจะโดยวิธีการดังกล่าวข้างต้นวิธีใดก็ตาม ยีนที่เข้าไปใหม่จะแทรกตัวรวมอยู่กับโครโมโซมของพืช จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครโมโซมพืช

อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดยีนเข้าสู่พืชนั้น มิได้เป็นการถ่ายทอดแต่เฉพาะตัวยีนที่ต้องการเท่านั้น หากแต่เป็นการถ่ายทอด “ชุดของยีน (gene cassette)” นั่นคือนักวิทยาศาสตร์จะนำเอายีนที่ต้องการนั้นไปผ่านขบวนการเสริมแต่ง เพื่อเพิ่มตัวช่วย ได้แก่ ตัวควบคุมการทำงานของยีนให้เริ่มต้นและยุติ และ ตัวบ่งชี้การปรากฏของยีน (ซึ่งตัวช่วยทั้ง 2 ชนิดก็เป็นสารพันธุกรรมหรือ "ยีน" เช่นเดียวกัน) และทั้งหมดก็จะถูกนำมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันเป็นชุดของยีน ก่อนที่จะนำชุดของยีนนั้นไปฝากไว้กับเชื้อ agrobacterium หรือนำไปเคลือบลงบนผิวอนุภาคทองอีกทีหนึ่ง

ให้มีการสร้างโปรตีนได้) ก็ต่อเมื่อมีตัวควบคุมการทำงานของยีนให้เริ่มต้นและยุติ (เปรียบเสมือนกับการมีสวิทช์เปิดและปิด) และนอกจากนี้ เพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานของยีนที่ต้องการได้ นักวิทยาศาสตร์จึงมีวิธีการสำหรับติดตามหรือสะกดรอยชุดของยีนที่ใส่เข้าไป นั่นคือโดยการตรวจหาสัญญาณจากตัวบ่งชี้การปรากฏของยีน ตัวบ่งชี้นี้ช่วยให้สามารถคัดแยกเซลล์พืชหรือต้นพืชที่ได้รับชุดของยีนออกจากพวกที่ไม่ได้รับชุดของยีนได้ด้วย
ชื่อที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์สำหรับเรียกตัวควบคุมการทำงานของยีน ส่วนที่ทำหน้าที่เป็นสวิทช์เปิดคือโปรโมเตอร์ (promoter) และส่วนที่เป็นสวิทช์ปิดคือเทอร์มิเนเตอร์ (terminator) และเรียกตัวบ่งชี้การปรากฏของยีนว่า ยีนบ่งชี้ หรือ ยีนตัวเลือก (marker gene or selectable marker gene) ปัจจุบันนี้มีโปรโมเตอร์และเทอร์มิเนเตอร์ให้เลือกใช้หลายตัว แต่ที่นิยมคือ CaMV 35S promoter และ NOS terminator ส่วนยีนบ่งชี้มักเลือกใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป ตัวอย่างของยีนบ่งชี้ ได้แก่ ยีนที่สามารถต้านสารปฏิชีวนะ (antibiotic resistant) เป็นต้น
ภาพที่ 2 โครงสร้างของยีน (gene construct) ที่เป็นส่วนประกอบหลักของ GMOs
วิธีการตรวจหา GMOs ในพืชหรืออาหาร
การดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถบอกได้ว่า พืชชนิดใดหรืออาหารชนิดใดเป็น GMOs หรือไม่ การตรวจสอบจำเป็นจะต้องใช้เทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพและกระทำภายในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพร้อมและโดยนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ หลักการตรวจสอบก็คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมที่มีอยู่ในเฉพาะพืชหรืออาหาร GMOs ได้แก่ 35S promoter, NOS terminator, transgene หรือยีนบ่งชี้ (selectable marker) โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า polymerase chain reaction (PCR) ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันอยู่ใน ห้องปฏิบัติการทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับวิธีการสกัดแยกโปรตีนออกจากอาหารที่เป็นวัตถุดิบ ฯลฯ ซึ่งเทคนิคการตรวจสอบปลีกย่อยเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละห้องปฏิบัติการ
ข้อดีของ GMOs
GMOs คือผลผลิตจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาระดับโมเลกุล (molecular biology) โดยเฉพาะพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ที่ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วจนถึงระดับสูงมาก สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์และสถาบันวิจัยทั่วโลก ทุ่มเทพลังความคิดและทุนวิจัยจำนวนมหาศาลเพื่อศาสตร์นี้ คือความมุ่งหมายที่จะพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ทั้งทางด้านโภชนาการ การแพทย์ และสาธารณสุข

ความสำเร็จแห่งการพัฒนาศาสตร์ดังกล่าว มีรูปธรรมคือการยกระดับคุณภาพอาหาร ยา และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังที่เราได้รับผลประโยชน์อยู่ทุกวันนี้ และในภาวะที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่พื้นที่การผลิตลดลง พันธุวิศวกรรมเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดอันหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและยาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากประสิทธิภาพของพันธุวิศวกรรมเป็นที่ยอมรับว่า สามารถช่วยเพิ่มอัตราผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้นมากกว่าการผลิตในรูปแบบดั้งเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเกษตรในสหรัฐอเมริกา และด้วยการที่พันธุวิศวกรรม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดังกล่าว จึงมีการกล่าวกันว่า พันธุวิศวกรรมคือการปฏิวัติครั้งใหญ่ในด้านการเกษตรและการแพทย์ ที่เรียกว่า genomic revolution

GMOs ที่ได้รับการพัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่
ประโยชน์ต่อเกษตรกร
1. ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น ทนต่อศัตรูพืช หรือมีความสามารถในการป้องกันตนเองจากศัตรูพืช เช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย แมลงศัตรูพืช หรือแม้แต่ยาฆ่าแมลงและยาปราบวัชพืช หรือในบางกรณีอาจเป็นพืชที่ทนแล้ง ทนดินเค็ม ดินเปรี้ยว คุณสมบัติเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่าเป็น agronomic traits
ทำให้เกิดพืชสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเก็บรักษาเป็นเวลานาน ทำให้สามารถอยู่ได้นานวันและขนส่งได้เป็นระยะทางไกลโดยไม่เน่าเสีย เช่น มะเขือเทศที่สุกช้า หรือแม้จะสุกแต่ก็ไม่งอม เนื้อยังแข็งและกรอบ ไม่งอมหรือเละเมื่อไปถึงมือผู้บริโภค ลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็น agronomic traits เช่นเดียวกัน เพราะให้
2. ประโยชน์แก่เกษตรกรและผู้จำหน่าย สินค้า GMOs ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่ในจำพวกข้อ 1 หรือข้อ 2 ที่กล่าวมานี้
ประโยชน์ต่อผู้บริโภค
3. ทำให้เกิดธัญพืช ผัก หรือผลไม้ที่มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นในทางโภชนาการ เช่น ส้มหรือมะนาวที่มีวิตามินซีเพิ่มมากขึ้น หรือผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ให้ผลมากกว่าเดิม ลักษณะเหล่านี้เป็นการเพิ่มคุณค่าเชิงคุณภาพ (quality traits)
4. ทำให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น ดอกไม้หรือพืชจำพวกไม้ประดับสายพันธุ์ใหม่ที่มีรูปร่างแปลกกว่าเดิม ขนาดใหญ่กว่าเดิม สีสันแปลกไปจากเดิม หรือมีความคงทนกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็น quality traits เช่นกัน
GMOs ที่มีลักษณะที่กล่าวมาในข้อ 3 และข้อ 4 นี้ในบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเริ่มมีจำหน่ายเป็นสินค้าแล้ว และคาดว่าจะมีความแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้ ทั้งหมดที่กล่าวมาตั้งแต่ข้อ 1- 4 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการลัดขั้นตอนของการผสมพันธุ์พืช ซึ่งในหลายกรณีหากช่วงชีวิตของพืชยาว ทำให้ต้องกินเวลานานกว่าจะได้ผลเนื่องจากต้องมีการคัดเลือกหลายครั้ง การทำ GMOs ทำให้ขั้นตอนนี้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก
ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม
5. คุณสมบัติของพืชที่ทำให้ลดการใช้สารเคมี และช่วยให้ได้พืชผลมากขึ้นกว่าเดิมมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง วัตถุดิบที่มาจากภาคเกษตร เช่น กากถั่วเหลืองอาหารสัตว์จึงมีราคาถูกลง ทำให้เพิ่มอำนาจในการแข่งขัน
6. นอกจากพืชแล้ว ยังมี GMOs หลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เอ็นไซม์ที่ใช้ในการผลิตน้ำผักและน้ำผลไม้ หรือเอ็นไซม์ไคโมซินที่ใช้ในการผลิตเนยแข็งแทบทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก GMOs และมีมาเป็นเวลานานแล้ว
7. การผลิตวัคซีน หรือยาชนิดอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมยาปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่ใช้ GMOs แทบทั้งสิ้น อีกไม่นานนี้เราอาจมีน้ำนมวัวที่มีส่วนประกอบของยาหรือฮอร์โมนที่จำเป็นต่อมนุษย์ ซึ่งผลิตจาก GMOs ลักษณะที่กล่าวถึงตั้งแต่ข้อ 6-8 ล้วนมีส่วนทำให้ลดต้นทุนการผลิตและเวลาที่ต้องใช้ลงทั้งสิ้น
ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
8. ประโยชน์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมคือ เมื่อพืชมีคุณสมบัติสามารถป้องกันศัตรูพืชได้เอง อัตราการใช้สารเคมีเพื่อปราบศัตรูพืชก็จะลดน้อยลงจนถึงไม่ต้องใช้เลย ทำให้มีลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช และลดอันตรายต่อเกษตรกรเองที่เกิดขึ้นจากพิษของการฉีดสารเหล่านั้นในปริมาณมาก (ยกเว้นบางกรณีเช่น พืชที่ต้านทานยาปราบวัชพืชที่อาจมีโอกาสทำให้เกิดแนวโน้มในการใช้สารปราบวัชพืชของบางบริษัทมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่)
9. หากยอมรับว่าการปรับปรุงพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์พืชเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสายพันธุ์ให้มากขึ้นแล้ว การพัฒนา GMOs ก็ย่อมมีผลทำให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นเช่นกัน เนื่องจากยีนที่มีคุณสมบัติเด่นได้รับการคัดเลือกให้มีโอกาสแสดงออกได้ในสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น
ข้อเสียของ GMOs
เทคโนโลยีทุกชนิดเมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย ในกรณีของ GMOs นั้นข้อเสียคือ มีความเสี่ยงและความซับซ้อนในการบริหารจัดการเพื่อให้มีความปลอดภัยเพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ใดได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร GMOs แต่ความกังวลต่อความเสี่ยงของการใช้ GMOs เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น กรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้
ความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
1. สารอาหารจาก GMOs อาจมีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตราย เช่น เคยมีข่าวว่า กรดอะมิโน
L-Tryptophan ของบริษัท Showa Denko ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐเกิดอาการป่วยและล้มตาย อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นนี้แท้จริงแล้วเป็นผลมาจากความบกพร่องในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพ (quality control) ทำให้มีสิ่งปนเปื้อนหลงเหลืออยู่หลังจากกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ มิใช่ตัว GMOs ที่เป็นอันตราย
ความกังวลในเรื่องของการเป็นพาหะของสารพิษ เช่น ความกังวลที่ว่า DNA จากไวรัสที่ใช้ในการทำ GMOs อาจเป็นอันตราย เช่น การทดลองของ Dr. Pusztai ที่ทดลองให้หนูกินมันฝรั่งดิบที่มี lectin และพบว่าหนูมีภูมิคุ้มกันลดลง และมีอาการบวมผิดปกติของลำไส้ ซึ่งงานชิ้นนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง โดยนักวิทยา
2. ศาสตร์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการออกแบบการทดลองและวิธีการทดลองบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐานตามหลักการวิทยาศาสตร์ ในขณะนี้เชื่อว่ากำลังมีความพยายามที่จะดำเนินการทดลองที่รัดกุมมากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากขึ้น และจะสามารถสรุปได้ว่าผลที่ปรากฏมาจากการตบแต่งทางพันธุกรรมหรืออาจเป็นเพราะเหตุผลอื่น
3. สารอาหารจาก GMOs อาจมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่าอาหารปกติในธรรมชาติ เช่น รายงานที่ว่าถั่วเหลืองที่ตัดแต่งพันธุกรรมมี isoflavone มากกว่าถั่วเหลืองธรรมดาเล็กน้อย ซึ่งสารชนิดนี้เป็นกลุ่มของสารที่เป็น phytoestrogen (ฮอร์โมนพืช) ทำให้มีความกังวลว่า การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน estrogen อาจทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กทารก จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบของการเพิ่มปริมาณของสาร isoflavine ต่อกลุ่มผู้บริโภคด้วย
4. ความกังวลต่อการเกิดสารภูมิแพ้ (allergen) ซึ่งอาจได้มาจากแหล่งเดิมของยีนที่นำมาใช้ทำ GMOs นั้น ตัวอย่างที่เคยมีเช่น การใช้ยีนจากถั่ว Brazil nut มาทำ GMOs เพื่อเพิ่มคุณค่าโปรตีนในถั่วเหลืองสำหรับเป็นอาหารสัตว์ จากการศึกษาที่มีขึ้นก่อนที่จะมีการผลิตออกจำหน่าย พบว่าถั่วเหลืองชนิดนี้อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดอาการแพ้เนื่องจากได้รับโปรตีนที่เป็นสารภูมิแพ้จากถั่ว Brazil nut บริษัทจึงได้ระงับการพัฒนา GMOs ชนิดนี้ไป อย่างไรก็ตาม พืช GMOs อื่น ๆที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปในโลกในขณะนี้ เช่น ถั่วเหลืองและข้าวโพดนั้น ได้รับการประเมินแล้วว่า อัตราความเสี่ยงไม่แตกต่างจากถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ปลูกอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
5. การตบแต่งพันธุกรรมในสัตว์ปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่? ในบางกรณี วัว หมู รวมทั้งสัตว์ชนิดอื่นที่ได้รับ recombinant growth hormone อาจมีคุณภาพที่แตกต่างไปจากธรรมชาติ และ/หรือมีสารตกค้างหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สัตว์มีระบบสรีระวิทยาที่ซับซ้อนมากกว่าพืช และ เชื้อจุลินทรีย์ ทำให้การตบแต่งพันธุกรรมในสัตว์ อาจทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ที่ไม่คาดคิดได้ โดยอาจทำให้สัตว์มีลักษณะและคุณสมบัติเปลี่ยนไป และมีผลทำให้เกิดสารพิษอื่น ๆ ที่เป็นสารตกค้างที่ไม่ปรารถนาขึ้นได้ การตบแต่งพันธุกรรมในสัตว์ที่เป็นอาหารโดยตรง จึงควรต้องมีการพิจารณาขั้นตอนการประเมินความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากกว่าเชื้อจุลินทรีย์และพืช
6. ความกังวลเกี่ยวกับการดื้อยา กล่าวคือเนื่องจากใน marker gene มักจะใช้ยีนที่สร้างสารต่อต้านปฏิชีวนะ (antibiotic resistance) ดังนั้น จึงมีผู้กังวลว่าพืชใหม่ที่ได้อาจมีสารต้านปฏิชีวนะอยู่ด้วย ทำให้มีคำถามว่า
6.1 ถ้าผู้บริโภคอยู่ในระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่ อาจจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือไม่ เนื่องจากมีสารต้านทานยาปฏิชีวนะอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย และสามารถแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงได้
6.2 ถ้าเชื้อแบคทีเรียที่ตามปกติมีอยู่ในร่างกายคน ได้รับ marker gene ดังกล่าวเข้าไปโดยผนวก (integrate) เข้าอยู่ในโครโมโซมของมันเอง ก็จะทำให้เกิดแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อยาปฏิชีวนะได้ ข้อนี้มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก
แต่เมื่อมีความกังวลเกิดขึ้น ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดค้นวิธีใหม่ที่ไม่ต้องใช้ selectable marker ที่เป็นสารต่อต้านปฏิชีวนะ หรือบางกรณีก็สามารถนำยีนส่วนที่สร้างสารต่อต้านปฏิชีวนะออกไปได้ก่อนที่จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
7. ความกังวลเกี่ยวกับการที่ยีน 35S promoter และ NOS terminator ที่อยู่ในเซลล์ของ GMOs จะหลุดรอดจากการย่อยภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ เข้าสู่เซลล์ปกติของคนที่รับประทานเข้าไป แล้วเกิด active ขึ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนในมนุษย์ ซึ่งข้อนี้จากผลการทดลองที่ผ่านมายืนยันได้ว่า ไม่น่ากังวลเนื่องจากมีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่สุด
8. อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังบ้างในบางกรณี เช่น เด็กอ่อนที่มีระบบทางเดินอาหารที่สั้นกว่าผู้ใหญ่ทำให้การย่อยอาหารโดยเฉพาะ DNA ในอาหาร เป็นไปโดยไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ในข้อนี้แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายค่อนข้างต่ำ แต่ก็ควรมีการวิจัยโดยละเอียดต่อไป
ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม
9. มีความกังวลว่า สารพิษบางชนิดที่ใช้ปราบแมลงศัตรูพืช เช่น Bt toxin ที่มีอยู่ใน GMOs บางชนิดอาจมีผลกระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ เช่น ผลการทดลองของ Losey แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ที่กล่าวถึงการศึกษาผลกระทบของสารฆ่าแมลงของเชื้อ Bacillus thuringiensis (บีที) ในข้าวโพดตบแต่งพันธุกรรมที่มีต่อผีเสื้อ Monarch ซึ่งการทดลองเหล่านี้ทำในห้องทดลองภายใต้สภาพเงื่อนไขที่บีบเค้น และได้ให้ผลในขั้นต้นเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทดลองภาคสนามเพื่อให้ทราบผลที่มีนัยสำคัญ ก่อนที่จะมีการสรุปผลและนำไปขยายความ
10. ความกังวลต่อการถ่ายเทยีนออกสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเนื่องจากมีสายพันธุ์ใหม่ที่เหนือกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ หรือลักษณะสำคัญบางอย่างถูกถ่ายทอดไปยังสายพันธุ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งการทำให้เกิดการดื้อต่อยาปราบวัชพืช เช่น ที่กล่าวกันว่าทำให้เกิด super bug หรือ super weed เป็นต้น ในขณะนี้มีการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับการถ่ายเทของยีน แต่ยังไม่มีข้อยืนยันในเรื่องนี้
ความกังวลในด้านเศรษฐกิจ-สังคม
ความกังวลอื่น ๆ นั้นมักเป็นเรื่องนอกเหนือวิทยาศาสตร์ เช่น ในเรื่องการครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติที่มีสิทธิบัตร ถือครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับ GMOs ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนปัญหาความสามารถในการพึ่งตนเองของประเทศในอนาคต ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงโดย NGOs และปัญหาในเรื่องการกีดกันสินค้า GMOs ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาของประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน
แม้ว่าจะมีความกังวลอยู่ แต่ควรทราบว่า GMOs เป็นผลิตผลจากเทคโนโลยีที่ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดอย่างหนึ่งเท่าที่มนุษย์เคยคิดค้นมา ในประเทศไทยมีแนวปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับนักวิจัย (biosafety guidelines) ทุกขั้นตอน ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในการทดลองภาคสนามเพื่อให้การวิจัยและพัฒนา GMOs มีความปลอดภัยสูงสุด และเป็นพื้นฐานในการประเมินความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการประเมินความเสี่ยงนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องในแต่ละสภาพแวดล้อม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รอบด้านและรัดกุมที่สุด
อย่างไรก็ดี กรณี GMOs เป็นโอกาสที่ดีในการที่ประชาชนในชาติได้มีความตื่นตัวและเร่งสร้างวุฒิภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการตัดสินใจใด ๆ ของสังคมควรเป็นไปโดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ และโดยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือการให้ความสำคัญกับที่มาของข้อมูลและการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล มิใช่เป็นไปโดยความตื่นกลัว หรือการตามกระแส
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1. นโยบายความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภค (biosafety)
ความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาการนำสิ่งมีชีวิตตบแต่งสารพันธุกรรมมาใช้ ดังนั้นหน่วยงานของรัฐจึงต้องมีมาตรการ (measures) และแนวทางปฏิบัติ (guidelines) ที่ชัดเจน
สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยนั้น ได้มีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosafety guidelines) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ทำให้เกิดคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพขึ้นในสถาบันต่าง ๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินตามแนวปฏิบัติฯ นี้เท่าที่จะปล่อยออกสู่ท้องตลาดหรือสู่สิ่งแวดล้อมได้ ขณะนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์พืชชนิดใดที่ได้รับการอนุมัติให้นำไปเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้
ขณะนี้อาจถึงเวลาที่จำเป็นต้องมีการทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมแนวทางปฏิบัติฯ ซึ่งการทำเช่นนี้ควรอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูลสะท้อนกลับมาจากผู้นำแนวทางปฏิบัติฯ ไปใช้ ทั้งนี้โดยพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้จริง และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขแนวทางปฏิบัติฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
ส่วนแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ ซึ่งจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อประเมินความปลอดภัยของอาหาร (food safety guidelines) อยู่นั้น ควรเร่งผลักดันให้มีการนำแนวปฏิบัติมาใช้โดยเร็ว ในขณะที่กระทรวงสาธารสุข ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นอาหารนั้น ควรมีระบบการประเมินความปลอดภัยของอาหารและติดตามตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
2. นโยบายทางด้านการค้าสินค้าเกษตร รวมถึงการนำเข้าและส่งออก
ประเทศไทยมีพื้นฐานการเกษตรและมีเศรษฐกิจที่พัฒนาและมั่นคงเนื่องมาจากการส่งออก ด้วยเหตุผลนี้การนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรบางอย่าง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้าที่ส่งออก ผลิตภัณฑ์เกษตรบางอย่างนั้นที่ประเทศไทยต้องนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบนั้นอาจได้มาจากการตบแต่งทางพันธุกรรม อาทิเช่น กากถั่วเหลือง หรือเม็ด (grain) ถั่วเหลือง อย่างไรก็ตามการนำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมนั้น จะต้องมีการควบคุม แยกแยะ และตรวจสอบได้เพื่อให้สินค้าส่งออกของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก
นอกจากนี้ ในการดำเนินนโยบายทางด้านการเกษตรนั้น ควรมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบโดยตรง เพื่อใช้เป็นนโยบายในการนำผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอมาใช้ในการเกษตรเพื่อเพาะปลูก นอกจากนี้ประเทศไทยต้องมีหลักการ และ แนวปฏิบัติในการควบคุมพืชที่ได้จากการตบแต่งทางพันธุกรรมที่รัดกุม และสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนระบบและวิธีการแบ่งแยกผลผลิตเหล่านี้จากกัน เพื่อให้สินค้าเกษตรของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
3. นโยบายการติดฉลากผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ
การติดฉลากผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ เป็นการเปิดโอกาสที่จะให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และ ให้โอกาสผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าเพื่อใช้บริโภค อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพิจารณาถึงความพร้อมในการตรวจสอบ รวมถึงการดูแลเพื่อให้มีการสุ่มตัวอย่างมาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกระยะ และคำนึงถึงปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อมิให้ภาระที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกผลักไปสู่ประชาชนผู้บริโภคโดยไม่จำเป็น
4. นโยบายด้านข่าวสารข้อมูล
ข้อมูลเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้น ออกมาจากแหล่งข่าวที่หลากหลายซึ่งบางครั้งมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง รวมถึงการออกข่าวในลักษณะใส่ร้ายป้ายสีหรือโจมตีฝ่ายที่สนับสนุนหรือคัดค้าน จึงทำให้ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจและสับสนขึ้น นอกจากนั้นข้อมูลบางครั้งมีความสลับซับซ้อนมากเนื่องจากการในทำความเข้าใจอย่างแท้จริงนั้น หลายกรณีจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ จึงควรมีความพยายามทำข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจง่ายและเป็นกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้อง สามารถใช้ในการไตร่ตรองและตัดสินใจที่จะใช้หรือไม่ใช้ บริโภคหรือไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการตบแต่งพันธุกรรม
ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ มีการให้ข้อมูลที่เน้นความเข้าใจพื้นฐานรวมทั้งแนวนโยบายของประเทศ โดย
1) ประชาชนเข้ามาสอบถามได้โดยตรงด้วยตัวเอง
2) สิ่งตีพิมพ์ เช่น หนังสือการ์ตูนชุด "เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อประชาชน", เอกสาร "รายงานสถานภาพ GMOs ในประเทศไทย" ฯลฯ
3) การให้ข้อมูลผ่าน Internet เข้าไปดูได้ที่ http://www.biotec.or.th/ และ http://policy.biotec.or.th/
5. นโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการตบแต่งพันธุกรรม

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการตบแต่งสารพันธุกรรมนั้นส่วนใหญ่ในขณะนี้เป็นผลิตผลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ซึ่งผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดใหญ่ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพประชาคมยุโรป ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า สินค้าเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยจะไม่ได้รับการพัฒนาจากบริษัทเหล่านี้ ประเทศไทยจึงควรต้องพัฒนาตนเองในด้านนี้ เพื่อให้ได้สินค้าจีเอ็มโอที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ทั้งในด้านการเกษตรและการแพทย์ นอกจากนี้การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีชีวภาพในต่างประเทศเป็นเหตุการณ์

บังคับที่ประเทศไทยจะต้องมีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เราต้องนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและส่งออกต่อไป ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เราต้องพัฒนาควบคู่ คือ การตรวจสอบโดยใช้ PCR เทคโนโลยีการตบแต่งพันธุกรรมนั้นมีประโยชน์มากทางด้านการแพทย์ และ การเกษตร ดังนั้น ประเทศไทยควรหาวิธีการที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ตบแต่งพันธุกรรมให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ลดความเสียหาย หรือ ความเสี่ยงอันตรายลงให้น้อยที่สุด