เว็บไซต์ส่วนตัว
หน้าแรก
ประวัติส่วนตัว
ความภาคภูมิใจ
สมุดเยี่ยม
::.อิสลาม : ศาสนาแห่งสันติภาพ.
1.สันติภาพเป็นคำสอนและอุดมการณ์ของอิสลาม
ในทัศนะของอิสลาม คำว่า สันติภาพไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสายตาของมุสลิม มันเป็นสิ่งที่ถูกฝังแน่นและซึมลึกเข้าไปในจิตวิญญาณ เลือดเนื้อและชีวิตของมุสลิม “สันติภาพ” เป็นคำสอนและอุดมการณ์ที่ได้กลายเป็นความเชื่อมั่นศรัทธาประการหนึ่งของมุสลิม นับตั้งแต่รุ่งอรุณแห่งอิสลามเป็นต้นมา
อิสลามได้ดำเนินบทบาทในการแผ่ขยายคำว่า “สลาม” แปลว่า “สันติ” ให้ขจรขจายไปทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า คำนี้ เป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิตมนุษย์ นั่นก็คือ ความสงบสุขอย่างแท้จริงทั้งในโลกนี้และปรโลก

2.”สลาม” หรือ “สันติ” คำที่ถูกกล่าวถึงมากในอิสลาม

หนึ่งในคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นของอิสลาม ก็คือ การให้ความสำคัญ กับ คำว่า “สลาม” ซึ่งมีความหมายว่า “สงบ สันติ ผ่องแผ้ว ปลอดภัยและมีความผาสุข” คำนี้จะถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในอัล-กุรอานและหะดีษ ในทุกบริบทและมิติ
หนึ่งในพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงทรงประทานศาสนานี้ ก็คือ “อัส-สลาม” หมายถึง ผู้ทรงให้ความปลอดภัย เพราะ พระองค์ประสงค์จะให้เกิดความปลอดภัย ความสุขและสงบผ่องแผ้วแก่จิใจมวลมนุษยชาติทั้งหลาย โดยการประทานศาสนบัญญัติอันบริสุทธิ์ ให้มวลมนุษย์ได้ยึดถือและปฏิบัติ
ดังนั้น ผู้ที่ชูธงศาสนานี้ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม อุลามาอ์ (ผู้รู้) นักดะวะฮ (นักเผยแผ่ศาสนา) นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวเพื่ออิสลาม ล้วนเป็นผู้ที่ชูธง “สลาม (สันติ) ” และ “ความปลอดภัยอัน นิรันดร์” ไปมอบแก่คนทั้งโลก
ในการอธิบายถึงภารกิจของศาสดา ท่านศาสดามุฮัมมัด ได้กล่าวว่า “แท้จริง ฉันนี้เป็นความเมตตากรุณาอย่างหนึ่ง อันเป็นรางวัลที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประทานมาให้แก่ (สิ่งถูกสร้าง) ทั้งหลาย”
อัล-กุรอานได้อธิบายถึง “ศาสดาผู้ประกาศสาส์นอิสลาม” ไว้ว่า
“และเรามิได้ส่งเจ้าเพื่ออื่นใดนอกจาก เพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” (ซูเราะฮ อัล-อัมบียาอ์ : 10)
เมื่อมุสลิมพบกัน เขาจะกล่าวทักทาย ด้วยประโยคสั้นๆแต่มีความหมาย นั่นก็คือ “อัสลามูอะลัยกม” แปลว่า “ขอความสันติจงมีแด่ท่าน” คำกล่าวนี้มีความจำเป็นและสำคัญสำหรับมุสลิม อีกนัยหนึ่ง การแพร่สลามหรือสันติแก่มวลมนุษย์เป็นคำสอนที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์และลักษณะอันโดดเด่นของอิสลามและมุสลิม สามารถร้อยดวงใจ ของมุสลิมให้เป็นหนึ่งเดียว และมีภราดรภาพอย่างแน่นแฟ้น อัลลอฮ์จึงให้มุสลิมยึดมั่นปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ศาสนาอิสลามได้สอนมุสลิมว่า “ผู้ที่ประเสริฐและใกล้ชิดอัลลอฮ์ที่สุด คือ ผู้ที่ชอบกล่าวทักทายผู้อื่นด้วยสลาม (สันติ) ”
นี่แสดงว่า ศาสนาที่ประชาชาติอิสลามยึดมั่นและนับถือนั้น เป็นศาสนาที่เพียบพร้อมไปด้วยหนทางสู่สันติภาพ ในหลักคำสอนอิสลามจึงประกอบไปคุณค่าต่างๆที่เกื้อหนุนให้เกิดสันติภาพ ความสงบสุขและความผ่องแผ้ว ชนชาวมุสลิมจึงเป็นชนที่รักสันติและมีการปรองดองกัน
วจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด บทหนึ่ง ได้กล่าวว่า
“อัลลอฮ์ทรงบัญญัติวิธีการกล่าวทักทาย ด้วยการกล่าวสลาม ซึ่งเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสำหรับประชาชาติของเรา และเป็นสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัยสำหรับพวกซิมมี ที่อยู่ใต้การปกครองของเรา”
พวกซิมมี ก็คือ คนต่างศาสนิกที่อาศัยอยู่และเป็นพลเมืองของรัฐอิสลาม พวกเขาเหล่านี้ต้องได้รับการคุ้มครองในสิทธิและเสรีภาพ
มุสลิมเมื่อพบกัน ห้ามทักทายด้วยคำหรือประโยคอื่น เขาต้องเริ่มทักทายด้วย “อัสลามูอาลัยกม” ก่อน แล้วจึงพูดคุยธุระอื่นๆ
ท่านศาสดา ได้กล่าวว่า“จะต้องกล่าวสลาม (สันติ) ก่อนที่จะพูดคุยธุระอื่นๆ”

ในการนมาซ อันเป็นการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น หนึ่งในข้อบัญญัติที่จำเป็นต้องกล่าวในนมาซ ก็คือ “การอ่านตะฮิยยาต” ซึ่งเป็นการกล่าวขอพรและวิงวอนจากอัลลอฮ์ให้ทรงประทานความสันติแก่ศาสทูตของอัลลอฮ์ แก่ตัวเองและบ่าวของอัลลอฮ์ที่ดีทั้งหลาย

คำกล่าวนี้ จะส่งผลให้มุสลิมที่ซาบซึ้งในความหมาย ได้ซึมซาบ และเริ่มดำเนินชีวิตหลังจากการนมาซ ด้วยสันติธรรม เมตตาธรรม บารอกะฮ (มีศิริมงคล) ในขณะที่การนมาซนั้นเป็น ศาสนกิจที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติแม้ในขณะที่กำลังสู้รบกันก็ตาม
ในขณะที่กำลังสู้รบ ถ้าปรากฏว่า ขณะที่กำลังจะเงื้อมมือฆ่าศัตรู หรือศัตรูบาดเจ็บหรือพยายามหลบหนี เขาได้กล่าวสลาม ทหารมุสลิมก็ต้องยั้งมือเสีย ห้ามชักดาบ ปืนหรืออาวุธอื่นๆฆ่าศัตรูคนดังกล่าว มันช่างเป็นคำสอนที่ประเสริฐและสูงส่งเหลือเกิน
อัลลอฮ์ตรัสว่า
“…และจงอย่ากล่าวแก่ผู้ที่กล่าวสลามแก่พวกเจ้าว่า ท่านไม่ใช่ผู้ศรัทธา…” (ซูเราะฮ อันนีสาอ์ : 94)
พระองค์อัลลอฮ์ ตลอดจนมวลมาลาอีกะฮทรงให้เกียรติแก่มวลมุสลิม ด้วยการมอบสลามให้ อัลลอฮ์ตรัสว่า “การกล่าวทักทายของพวกเขาในวันที่พวกเขาพบพระองค์ คือ ศานติ (สลาม) ” (ซูเราะฮ อัล-อะหซาบ :44)
“…และมลาอีกะฮจะเข้ามาหาพวกเขาจากทุกประตู (ของสวรรค์ พร้อมกับกล่าวว่า) ความศานติจงมีแด่ท่าน…” (ซูเราะฮ อัร-เราะอด : 23 –24)
ที่พำนักของพวกคนที่ดีๆ (ซอลีฮีน) ในวันปรโลก ก็ถูกขนานนามว่า “บ้านสันติสุขและปลอดภัย” อัลลอฮ์ตรัสว่า
“และอัลลอฮ์ทรงเรียกร้องไปสู่สถานที่แห่งศานติ (ดาริสสลาม) …” (ซูเราะฮ ยูนุส : 25)
“สำหรับพวกเขานั้น (พวกที่อยู่ในทางอันเที่ยงตรงนั้น) คือ นิวาสแห่งความปลอดภัย (ดารุสสลาม) …” (ซูเราะฮ อัล-อันอาม : 127)
ชาวสวรรค์จะไม่ได้ยินเสียงที่ไม่สุภาพ หยาบคาย ลามกอนาจารและไร้สาระ พวกเขาจะไม่พูดคุยนอกเสียจากด้วยภาษาและคำพูดที่เพียบพร้อมด้วยความสันติ
“ในสวนสวรรค์นั้นพวกเขาจะไม่ได้ยินคำพูดที่ไร้สาระและเป็นบาป เว้นแต่คำกล่าวที่ว่า ศานติ ศานติ…” (ซูเระฮ อัล-วากิอะฮ : 26)
การที่อิสลามพูดถึงเรื่องสลามหรือสันติครั้งแล้วครั้งเล่านั้น มีจุดมุ่งหมาย เพื่อกระตุ้น เร่งเร้าทุกองคาพยพและความรู้สึกนึกคิดต่างๆของมนุษย์ ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของอุดมการณ์สันติภาพ อันเป็นคำสอนที่สำคัญและสูงส่งของอิสลามนั่นเอง

3.ความสัมพันธ์ต่างๆ :เงาสะท้อนอุดมการณ์สันติภาพในอิสลาม

นอกจากการเรียกร้องเชิญชวนและสั่งสอนในเรื่องสันติภาพแล้ว อิสลามยังได้บัญญัติให้อุดมการณ์นี้เป็นมูลรากฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรและประเทศต่างๆอีกด้วย
หลักการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม ก็คือ ความเสมอภาคและภราดรภาพ นั่นก็คือ ควานสันติสงบสุข และปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความเมตตาและเอื้ออาทรต่อกัน
ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม อัลลอฮ์ตรัสว่า
“แท้จริงศรัทธาชนนั้น เป็นพี่น้องกัน” (ซูเราะฮ อัล-หุจรอต : 10)
ท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า
“อุปมามุสลิมคนหนึ่งกับมุสลิมคนอื่นๆ ในเรื่องความรักเมตตาต่อกัน อุปไมยดั่งร่างกายของมนุษย์ เมื่ออวัยวะใดเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆก็จะพลอยป่วยและนอนไม่หลับไปด้วย”
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิก ก็คือ การทำความรู้จักกัน การเคารพและให้เกียรติกัน การช่วยเหลือบริการและอำนวยความสะดวก การให้สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมในทุกๆด้าน ซึ่งจะเป็นประตูนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรกัน อัล-ลอฮตรัสว่า
“มนุษยชาติเอ๋ย! แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า…” (ซูเราะฮ อัล-หุจรอต : 13)
อัล-กุรอานได้สั่งเสียให้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“อัลลอฮ์นั้น มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักผู้มีความยุติธรรม” (ซูเราะฮ อัล-มุมตะฮีนะฮ : 8)
จุดมุ่งหมายของระบบความสัมพันธ์ ก็เพื่อให้เกิดการสนอง แลกเปลี่ยนประโยชน์และสิ่งจำเป็นต่างๆ มีการช่วยเหลือเกื้อกูล มีการสร้างภราดรภาพในระหว่างมนุษย์

4. อิสลาม: กับการคุ้มครองและเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

อิสลามได้สั่งสอนให้มนุษย์ทุกคนเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ สิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน การเลือกวิถีชีวิตและการนับถือศาสนาต้องได้รับการคุ้มครองและจะละเมิดไม่ได้ ภายใต้หลักการที่ว่า “เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนา ภาษา สีผิวและเชื้อชาติ”
อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“และโดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม และเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดมาเป็นส่วนใหญ่” (ซูเราะฮ อัล-อิสรออ์ : 70)

5.สงคราม : ทางออกสุดท้ายและความจำเป็นอันหลีกเหลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากศักดิ์ศรีและสิทธิแห่งความมนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น การละเมิด คุกคาม ตัดทอนและบิดเบือนสิทธิดังกล่าว ถือว่า เป็นการกระทำความผิดและละเมิดต่อบุคคล
นี่คือ มูลเหตุที่แท้จริงที่อิสลามปฏิเสธความขัดแย้งและสงคราม ไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตาม เพราะมันเป็นการละเมิดต่อชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมและบริสุทธิ์ของมนุษย์ นอกจากนั้นสงครามยังเป็นมูลเหตุให้เกิดการทำลายสิ่งดีงามและคุณค่าต่างๆของชีวิตมนุษย์อีกด้วย
อิสลามจึงห้ามการทำสงครามเพื่อขยายอาณาจักรและดินแดน ขยายอำนาจและอิทธิพล ตลอดจนสงครามล่าอาณานิคม อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“นั่นคือที่พำนักแห่งปรโลก เราได้เตรียมมันไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ไม่ปรารถนาหยิ่งผยองในแผ่นดินและไม่ปราถนาความชั่ว…” (ซูเราะฮ อัล-กอศ็อซ : 83)
อิสลามห้ามการทำสงครามเพื่อแก้แค้น และ สงครามเพื่อทำลายล้าง อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“…และจงอย่าให้การเกลียดชังแก่พวกหนึ่งพวกใด ที่ขัดขวางพวกเจ้ามิให้เข้ามัสยิดหะรอม ทำให้พวกเจ้าทำการละเมิด และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน…” (ซูเราะฮ อัล-มาอีดะฮ : 2)
อิสลามยังได้ห้ามสงครามที่มีลักษณะเป็นการสร้างความวิบัติและความเสียหาย อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“และพวกเจ้าอย่าก่อความเสียหายไว้ในแผ่นดิน หลังจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขมันแล้ว…” (ซูเราะฮ อัล-อะอรอฟ : 56)
ในเมื่อเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของอิสลาม คือ สันติและความสงบผ่องแผ้ว สงครามจึงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับอิสลาม ในทัศนะของอิสลามนั้น สงครามไม่อนุมัติให้เกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขที่จำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ 3 ประการคือ
ประการที่ 1 เพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกรานและคุกคาม อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“และพวกเจ้าจง ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน” (ซูเราะฮ อัล-บากอเราะฮ : 190)
ประการที่ 2 เพื่อป้องกันตัวเองจากการกดขี่ทารุณ ข่มเหงรังแกจากผู้กดขี่และผู้อธรรมอัลลอฮ์ ตรัสว่า
“มีเหตุใดเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? ที่พวกเจ้าไม่สู้รบในหนทางของอัลลอฮ์ ทั้งๆบรรดาผู้อ่อนแอ ไม่ว่าผู้ชายและหญิง และเด็กๆต่างกล่าวกันว่า โอ้พระเจ้าของเรา โปรดนำพวกเราออกจากเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองเป็นผู้ข่มเหงรักแก และโปรดให้มีขึ้นแก่พวกเราซึ่งผู้คุ้มครองคนหนึ่งจากที่พระองค์ และโปรดให้มีขึ้นแก่เราซึ่งผู้ช่วยเหลือคนหนึ่งจากที่พระองค์” (ซูเราะฮ อันนีสาอ์ : 75)
ประการที่ 3 เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา อัลลอฮ์ ตรัสว่า“ และพวกเจ้าจงสู้รบกับพวกเขา จนกว่าจะไม่มีการปฏิเสธศรัทธาใดๆปรากฏขึ้น และการอิบาดะฮทุกชนิดนั้นต้องเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์เท่านั้น…” (ซูเราะฮ อัล-อัมฟาล : 39)
จากคำอธิบายข้างต้น ทำให้เราทราบถึง กฎเกณฑ์ของสงครามในรูปแบบต่างๆ ตามที่อิสลามได้บัญญัติไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อฝ่ายศัตรูได้ขอสงบศึกและยุติสงคราม อิสลามก็สั่งห้ามมิให้กองทัพมุสลิมทำสงครามต่อไป ถ้าหากยังคงดื้อดึงทำสงครามต่อไป ถือว่า เป็นการกระทำที่หะรอม (ที่ต้องห้าม มีความผิด) อัลลอฮ์ ตรัสว่า
“แล้วแน่นอนพวกเขาได้สู้รบกับพวกเจ้าแล้วด้วย แต่ถ้าพวกเขาออกห่างพวกเจ้า โดยที่มิได้ทำการสู้รบกับพวกเจ้า และได้เสนอเจรจาแก่พวกเจ้าเพื่อการประนีประนอมแล้วไซร้ อัลลอฮ์ก็ไม่ทรงให้มีทางใดแก่พวกเจ้าที่จะขจัดพวกเขา” (ซูเราะฮ อันนีสาอ์ : 90)

“และหากพวกเขาโอนอ่อนมาเพื่อการประนีประนอมแล้ว เจ้าก็จงโอนอ่อนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายแต่อัลลอฮ์เถิด…” (ซูเราะฮ อัล-อัมฟาล : 61 )

“และหากพวกเขาต้องการหลอกลวงเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว..” (ซูเราะฮ อัล-อัมฟาล : 62)

6.ห้ามทหารมุสลิมฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์

เมื่อสงครามอนุมัติให้ทำสงครามได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ อิสลามจึงได้วางกฏเกณฑ์และกรอบในการทำสงคราม เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติของมุสลิม
อิสลามอนุมัติ ให้ทหารมุสลิมฆ่าเฉพาะทหารในสมรภูมิเท่านั้น ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับชีวิต เลือดเนื้อของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงคราม ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขและเหตุผลใดก็ตาม
นอกจากนั้น อิสลามยังได้ห้ามมิให้ฆ่าสตรี เด็ก คนป่วยและบาดเจ็บ คนชรา นักบวช ผู้ที่กำลังประกอบศาสนกิจ ห้าฆ่าเชลยศึก ห้ามทรมานและหั่นอวัยวะของข้าศึก ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามตัดและทำลายต้นไม้ แม่น้ำลำธาร ทำให้แหล่งน้ำสกปรก และห้ามทำลายบ้านเรือน อีกทั้งอิสลามยังได้ห้ามมิให้ตามล่าศัตรูบาดเจ็บสาหัสและหลบหนียอมแพ้
เราจะเห็นว่า แนวทางอิสลามเป็นทางสายกลางและมีความพอดี พอเหมาะเป็นอย่างยิ่ง สงครามนั้นเป็นเพียงการผ่าตัดอวัยวะที่เป็นเนื้อร้ายทิ้งเสีย จึงไม่สมควรลามปามและเลยเถิดไปผ่าตัดส่วนอื่นๆที่ยังปกติ ไม่เป็นพิษภัยใดๆ

7.อิสลามเรียกร้องเชิญชวนสู่สิ่งที่ดีงาม

อิสลามได้บัญญัติให้มุสลิมรักษาความยุติธรรม ห้ามการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น
คำสอนและคำเรียกร้องเชิญชวนอันสูงส่งและบริสุทธิ์ของอิสลาม มีจุดมุ่งหมายให้เกิดความรักใคร่ ปรองดอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การควบคุมตนเอง การเสียสละ การไม่เห็นแก่ตัวและโลภ อันเป็นปัจจัยที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข สมานฉันท์ กลมเกลียว มีความเป็นพี่น้อง รักใคร่ผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นและเอื้ออาทรกัน
นอกจากนั้น อิสลามยังได้สั่งสอนให้เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในคุณค่าและสิ่งที่ดีกว่า พร้อมทั้งยึดมั่นว่า สติปัญญานั้นเป็นหนทางเดียวที่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย
อิสลามไม่มีการบังคับให้ยึดมั่นหรือนับถือศาสนา อีกทั้งยังได้เปิดโอกาสและให้สิทธิในการนับถือศาสนาและเลือกวิถีการดำเนินชีวิตทางโลก ด้วยสติปัญญาและการไตร่ตรองด้วยเหตุผล
อัลลอฮ์ตรัสว่า
“ไม่มีการบังคับใดๆ (ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม แน่นอน ความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งจากความผิด…” (ซูเราะฮ อัล-บากอเราะฮ : 256)
“และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอน ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ? และมิเคยปรากฏว่าชีวิตใดจะศรัทธา เว้นแต่ด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และ และพระองค์อัลลอฮ์จะทรงลงโทษแก่บรรดาผู้ไม่ใช้สติปัญญา” (ซูเราะฮ ยูนุส : 99 –100)
ส่วนศาสนทูตนั้น เป็นเพียงผู้นำสารอิสลามมาเผยแผ่และตักเตือนมวลมนุษยชาติเท่านั้น
“โอ้นบีเอ๋ย! แท้จริง เราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นพยาน และผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน และเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ตามพระบัญชาของพระองค์ และเป็นดวงประทีปอันแจ่มจรัส” (ซูเราะฮ อัล-อะหซาบ : 45-46)
อิสลามตระหนักและรู้ดีว่า วิถีทางในการระงับและป้องกันมิให้เกิดสงคราม มีอยู่หนทางเดียว คือ การขจัดการกดขี่และอธรรมออกไปจากสังคมโลกให้หมด เพราะการกดขี่และอธรรม เป็นมูลเหตุให้เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคมในทุกยุคสมัยและรูปแบบ
การป้องกันสงครามและการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนนั้น ต้องมีการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ระหว่างเมืองกับชนบท และต้องขจัดการรังเกียจ เหยียดผิวและเชื้อชาติ
แน่นอน ทั้งหมดนั้นล้วนปรากฏอยู่ในคำสอนของอิสลามทั้งสิ้น เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคและภราดรภาพระหว่างมนุษย์
ฉะนั้น เพื่อหยุดยั้งสงครามและรักษาสันติภาพในโลกนี้ให้มั่นคงยั่งยืน อิสลามจึงได้นำเสนอทางเลือกแก่ชาวโลกว่า

((ต้องนำบทบัญญัติของอิสลามมาใช้อย่างสมบูรณ์ มีการเรียกร้องเชิญชวนสู่ศาสนาแห่งสันตินี้อย่างจริงจัง พร้อมทั้งจัดการอบรมขัดเกลามวลชนให้ยึดถือปฏิบัติตามหลักการอิสลามอย่างสมบูรณ์และมีชีวิตชีวา ชนรุ่นใหม่จะต้องได้รับการฝึกอบรมทางศีลธรรมและจริยธรรม ปลูกฝังคุณธรรม เช่น ความรักต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง การให้เกียรติและให้อภัย ทรัพยากรทั้งหลายจะต้องถูกทุ่มเทเพื่อการนี้อย่างเต็มที่ จนกระทั่งโลกใบนี้ได้มีโอกาสลิ้มรสความหวานชื่นของสันติภาพที่แท้จริง))

คำสอนอิสลาม ที่ได้หยิบยกมากล่าวข้างต้น จึงเป็นคำสอนที่สูงส่ง มีค่า บริสุทธิ์และงดงาม อิสลามได้ต่อสู้เพื่อสิ่งนี้มากว่าสิบห้าศตวรรษ ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพื่อให้โลกนี้มีสันติภาพที่ยั่งยืน

นั่นก็คือ เมื่ออิสลามได้รับยอมรับจากหูของผู้ที่ชอบฟังเหตุผล จากสมองและใจของผู้ที่ชอบคิดใคร่ครวญหาความจริง มือของผู้ชอบปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม โลกนี้ก็จะดีงาม มีการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ความชั่วร้ายก็จะถูกขจัดไป สันติภาพอันยั่งยืนที่ทุกคนรอคอยจึงเกิดขึ้น.

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงเข้าอยู่ในความสันติ (เข้าอยู่ในบัญญัติอิสลาม) โดยทั่วทั้งหมด และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของซาตาน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า แต่ถ้าพวกเจ้าหันเหออกไป หลังจากได้มีพยานอันชัดแจ้งมายังพวกเจ้าแล้ว ก็พึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ” (ซูเราะฮ อัล-บากอเราะฮ : 208 - 209)

คัดลอกจาก: เว็บไซต์ muslimthai